แพทริก มาโฮมส์ ตำนานบทใหม่ของ NFL
แพทริก มาโฮมส์ ตำนานบทใหม่ของ NFL
ครอบครัวนักกีฬา
แพทริก มาโฮมส์ เกิดมาพร้อมกับดีเอ็นเอนักกีฬาในสายเลือด โดยเป็นลูกชายคนโตของ แพทริก มาโฮมส์ ซีเนียร์ อดีตพิชเชอร์ของทีมระดับเมเจอร์ลีกที่ลงเล่นยาวนาน 11 ปี
ด้วยความเป็นลูกชายของนักกีฬาอาชีพ ประกอบกับความเป็นเด็กเท็กซัสจึงไม่แปลกอะไรที่มาโฮมส์จะชอบเล่นกีฬาตั้งแต่เด็ก
แต่ที่น่าสนใจคือเขาได้แขนที่ทรงพลังและทักษะที่ยอดเยี่ยมมาจากยีนของพ่อด้วยเช่นกัน
มาโฮมส์สมัยเรียนไฮสคูลเล่นกีฬาหลายประเภท ในอเมริกันฟุตบอลเขาเล่นเป็นควอเตอร์แบ็กที่ทำสถิติขว้าง 4,619 หลา, 50 ทัชดาวน์, วิ่งทำระยะรวม 948 หลา กับ 15 ทัชดาวน์ในปีสุดท้าย
ส่วนเบสบอลเขาเล่นเป็นพิชเชอร์ที่เคยทำสถิติโนฮิต 16 สไตร์คเอาต์ในเกมเดียว ขณะที่บาสเกตบอลก็เป็นผู้เล่นระดับค่าเฉลี่ย 19.9 แต้มต่อเกม และเคยชู้ตไกล 50 ฟุตลงห่วงในวินาทีสุดท้ายมาแล้ว
ตัดสินใจเลือกครั้งสำคัญ
จากกีฬาทั้ง 3 ชนิด มาโฮมส์ฉายแสงกับ อเมริกันฟุตบอลและเบสบอลมากที่สุด ทำให้เขาได้เข้าเรียนต่อที่ ม.เท็กซัส เทค ซึ่งเจ้าตัวใช้เวลา 2 จาก 3 ปี เล่นทั้งอเมริกันฟุตบอล และเบสบอล
ก่อนจะเลือกไม่เรียนต่อในปีสุดท้ายเพื่อเข้าพิธีดราฟต์ของ เอ็นเอฟแอล ในปี 2017
ความจริงแล้วในปี 2014 หลังจากที่มาโฮมส์เลือกเข้าเรียนที่ ม.เท็กซัส เขาได้รับการคาดหมายว่าจะถูกเลือกในพิธีดราฟต์ของเมเจอร์ลีกเบสบอลหรือเอ็มแอลบี
และเป็นทีม ดีทรอยต์ ไทเกอร์ส ที่ใช้สิทธิ์เลือกเขาในรอบที่ 37 แต่ไม่มีการเซ็นสัญญาเกิดขึ้นเพราะหัวใจของมาโฮมส์มีจุดหมายแล้ว นั่นก็คือ เอ็นเอฟแอล
อย่างไรก็ตามในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อนี้ มาโฮมส์ เคยคิดจะเอาดีแค่เบสบอลเช่นกัน เนื่องจากกังวลกับปัญหาบาดเจ็บในอเมริกันฟุตบอลที่อาจทำให้อาชีพไปไม่ไกลเท่าที่ควร
แต่แรนดี้แม่ของเขากล่อมจนเจ้าตัวยอมสู้ต่อไป แต่มันคงไม่เกิดขึ้นหากเขาไม่ได้รักกีฬาชนิดนี้เป็นทุนเดิม
การเลือกเอ็นเอฟแอล แทนที่จะเป็นเอ็มแอลบีตามอย่างคุณพ่อนั้น มาโฮมส์ ซีเนียร์ เปิดเผยว่า เขาคาดหวังว่าลูกชายจะเลือกเบสบอลแต่ก็ไม่แปลกใจที่มันไม่เป็นไปตามนั้น
เพราะเจ้าตัวตกหลุม อเมริกันฟุตบอล ไปแล้ว
“ลูกของเขาเล่นเบสบอลมานานเกินไปจนรู้ทุกอย่างทะลุปรุโปร่ง ผิดกับอเมริกันฟุตบอลที่ยังมีอีกหลายอย่างให้เรียนรู้ นั่นคือสาเหตุที่เจ้าตัวตกหลุมรัก”
ปีแห่งการเรียนรู้
ชีฟส์ ตกลงเซ็นสัญญากับมาโฮมส์แบบการันตีรายได้ 4 ปี 16.42 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ บวกกับค่าเซ็นสัญญาอีก 10.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม ในฤดูกาลแรก มาโฮมส์ ต้องนั่งเป็นตัวสำรองต่อจาก อเล็กซ์ สมิธ จอมทัพระดับโปรโบวล์ ซึ่งสำหรับรุกกี้บางคนอาจจะร้อนใจอยากพิสูจน์ฝีมือกับของจริงให้เร็วที่สุด
แต่กับมาโฮมส์เขาใช้โอกาสนี้ศึกษาการเล่นจากจอมทัพรุ่นพี่อย่างเต็มที่
และในสัปดาห์สุดท้ายของฤดูกาล 2017 มาโฮมส์ก็ได้ทำหน้าที่เป็นตัวจริง เนื่องจากชีฟส์คว้าสิทธิ์เพลย์ออฟเรียบร้อยแล้ว
และเจ้าตัวก็ไม่ทำให้ผิดหวังเมื่อช่วยนำทีมชนะ เดนเวอร์ บรองโก้ส์ 27-24 คะแนน ขว้างสำเร็จ 22 จาก 35 ครั้ง ทำระยะรวม 284 หลา เสีย 1 อินเตอร์เซ็ปต์
ถึงแม้จะเป็นเพียงแค่เกมเดียว แต่ แอนดี้ รีด ก็รู้แล้วว่า มาโฮมส์ พร้อมแล้วสำหรับก้าวต่อไปในอาชีพ
สถานการณ์สร้างวีรบุรุษ
หลังจบเกมรอบชิงแชมป์สาย เอเอฟซี มาโฮมส์เปิดเผยว่าเขาได้รับคำแนะนำที่ดีมาก ๆ จาก เบรดี้ นั่นคือให้พัฒนาตัวเองต่อไป และจงเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งมาโฮมส์จำคำนั้นเอาไว้ขึ้นใจ
ในฤดูกาลต่อมา ถึงแม้ว่าผลงานของมาโฮมส์จะไม่ได้เปรี้ยงปร้างเท่ากับฤดูกาลก่อน แต่สิ่งที่อยู่ในหัวของเขาไม่ใช่เรื่องผลงานส่วนตัว แต่เป็นภาพรวมที่ใหญ่กว่านั้น
ชีฟส์เข้ารอบเพลย์ออฟตามคาด ด้วยสถิติชนะ 12 แพ้ 4 เป็นอันดับ 2 ของสายเอเอฟซี ซึ่งเมื่อถึงช่วงโพสต์ซีซันมาโฮมส์ก็ปล่อยของออกมาอย่างเต็มที่
ใน 2 เกมแรกของรอบเพลย์ออฟ มาโฮมส์ช่วยชีฟส์คัมแบ็กจากการตามหลังด้วยเลข 2 หลัก ทั้ง 2 เกม ด้วยการเล่นที่ใกล้เคียงคำว่าสมบูรณ์แบบ คือขว้างสำเร็จ 65% ทำระยะรวม 615 หลา 8 ทัชดาวน์
ไม่เสียอินเตอร์เซ็ปต์ ผ่านเข้าไปชิงซูเปอร์โบวล์กับ ซาน ฟรานซิสโก โฟร์ตี้ไนเนอร์ส
มาโฮมส์ออกตัวไม่ค่อยดีนักในการเล่นซูเปอร์โบวล์หนแรก ขณะที่ชีฟส์อยู่ในสถานการณ์หลังพิงฝาขณะที่เหลือเวลาการแข่งเพียง 7:13 นาที ทีมได้ครองลูกในดาวน์ที่ 3 ต้องการระยะถึง 15 หลา
แต่ก็เป็นจอมทัพหมายเลข 15 ที่จุดประกายความหวังให้ทีมได้อย่างเหลือเชื่อ
มาโฮมส์บอมบ์ไกลระยะ 44 หลาให้ ไทรีก ฮิลล์ ปีกจรวด เปลี่ยนเป็นดาวน์ที่ 1 ซึ่งกลายเป็นเพลย์พลิกชะตาการแข่งขัน เพราะหลังจากนั้น มาโฮมส์ขว้าง 2 ทัชดาวน์
บวกกับการวิ่งเข้าเอนด์โซนจากระยะ 38 หลาของ เดเมียน วิลเลี่ยมส์ ทำให้ชีฟส์กลับมาเป็นฝ่ายชนะ 31-20 อย่างยิ่งใหญ่
ด้วยผลงานพาทีมกลับมาคว้าแชมป์ซูเปอร์โบวล์หนแรกในรอบ 50 ปี มาโฮมส์ได้รับเลือกเป็นผู้เล่นทรงคุณค่าในนัดชิงอย่างไม่มีข้อโต้แย้ง
พร้อมกับเป็นการประกาศศักดาว่า เขานี่แหละคือผู้ที่จะก้าวขึ้นมาครองยุคใหม่ของเอ็นเอฟแอล