อีริกเซ่น หัวใจหยุดเต้นกลางสนามแข่ง
อีริกเซ่น หัวใจหยุดเต้นกลางสนามแข่ง
อีริกเซ่น หัวใจหยุดเต้นกลางสนามแข่ง สร้างความตกใจให้กับแฟนบอลทั่วโลก ระหว่างการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์แห่งชาติยุโปร หรือยูโร 2020 หลัง คริสเตียน อีริคเซ่น นักเตะทีมชาติ เดนมาร์ก หมดสติล้มลงในสนาม ขณะกำลังแข่งขันกับทีมชาติ ฟินแลนด์ ซึ่งล่าสุดพ่อของนักเตะ ได้ออกมายืนยันกับสื่อว่าลูกชายพ้นขีดอันตรายแล้ว จากเหตุการณ์ในฟุตบอลยูโรเมื่อคืนนี้ ที่ คริสเตียน เอริคเซ่น วูบคาสนาม ทีมแพทย์ต้องเข้ามาปั๊มหัวใจนานอยู่หลายนาที ซึ่งในขณะนั้น ทั้งนักเตะของ เดนมาร์กและฟินแลนด์ รวมถึงแฟนบอลทั้งสองทีมที่เข้าชมเกมในสนาม ถึงกับร้องไห้กับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากที่ทีมแพทย์ ให้อ็อกซิเจน และพาเอริคเซ่น ส่งโรงพยาบาลที่อยู่ห่างจากสนามเพียง 500 เมตร ก็ได้รับการยืนยันจากทั้งทางสมาคมฟุตบอลเดนมาร์ก และยูฟ่าว่า เอริคเซ่น รู้สึกตัวและปลอดภัยแล้ว
“เอริคเซ่น” ปลอดภัย หลังหมดสติในสนาม
กรณีที่เกิดขึ้นกับ คริสเตียน อีริคเซ่น นักเตะทีมชาติ เดนมาร์ก นายแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊กส่วนตัวอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า มาจากภาวะหัวใจหยุดเต้น โดยภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันพบในนักกีฬาได้ประมาณ 1-2 ในแสนราย มีสาเหตุจากโรคหัวใจที่พยาธิสภาพชัดเจน (structural heart disease) และจากสาเหตุที่ ไม่พบความผิดปกติของโครงสร้างหัวใจที่ชัดเจน
โรคหัวใจที่มีพยาธิสภาพชัดเจน เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนา โรคหัวใจโต โรคลิ้นหัวใจพิการ ซึ่งปกติแล้วนักกีฬาอาชีพเหล่านี้จะมีการตรวจหาอย่างดีแล้ว แต่อาจมีพยาธิสภาพบางอย่างที่ตรวจหายากต้องใช้การตรวจพิเศษเฉพาะ เช่น โรคความผิดปกติของหลอดเลือดหัวใจ โดยทาง แพทย์บอกว่าแม้เป็นเหตุการลักษณะนี้จะเกิดขึ้นไม่บ่อย แต่การเตรียมพร้อมของสนามแข่งในการช่วยฟื้นคืนชีพจึงมีความสำคัญ ทั้งเรื่องการทำ CPR และมีเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ AED ที่พร้อมอยู่เสมอ
สำหรับคนที่มีความเกี่ยวข้องกับการแข่งขันฟุตบอล ไม่ว่าจะเป็นนักฟุตบอล ผู้จัดการทีม แพทย์ หรือนักกายภาพบำบัดประจำทีม ผู้จัดการสนาม หรือท่านประธานสโมสรฟุตบอล ควรต้องเตรียมความพร้อมหากนักฟุตบอลหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นในสนามฟุตบอลจะได้รับมือได้ทันท่วงที
ในที่นี้จะกล่าวเฉพาะสาเหตุที่รุนแรงและที่อาจนำไปสู่การเสียชีวิตของนักฟุตบอล อย่างการหยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้นของนักฟุตบอลในสนามฟุตบอล เพราะสาเหตุย่อย ๆ ที่อาจทำให้ผู้เล่นหมดสติเป็นลม หรือดูเหมือนหยุดหายใจอาจมีรายละเอียดค่อนข้างมากและอาจไม่ทำให้เกิดหัวใจหยุดเต้นอย่างทันทีทันใด
สาเหตุภาวะหัวใจหยุดเต้น
1. อายุต่ำกว่า 35 – 40 ปี
ในกรณีที่มีอายุต่ำกว่า 35 – 40 ปีส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของกล้ามเนื้อ แต่นักกีฬาเหล่านี้ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ ร่างกายและหัวใจมีการปรับตัวจนสามารถทำให้เล่นกีฬาได้อย่างดีหรือเป็นเลิศได้ โดยนักกีฬาไม่ทราบมาก่อนว่าตนเองมีความผิดปกติอยู่ แต่เมื่อมีการเล่นกีฬาที่หัวใจต้องทำงานหนัก (ซึ่งอาจเท่าเดิมที่เคยทำอยู่หรืออาจมากขึ้นกว่าปกติ) การทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจไม่สามารถดำเนินต่อไปได้เป็นสาเหตุจากการหยุดหายใจ (หัวใจหยุดเต้น)
2. อายุมากกว่า 35 – 40 ปี
ในกรณีที่มีอายุมากกว่า 35 – 40 ปี ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการอุดตันของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ทำให้เวลาร่างกายออกแรงมาก หัวใจจะทำงานมากขึ้น แต่เลือด (ที่มีอ็อกซิเจนอยู่ด้วย) ไม่สามารถมาเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้เพียงพอก็จะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้
การจัดบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินในสนามแข่งขันฟุตบอล
ในแต่ละทีมฟุตบอลที่เข้าร่วมการแข่งขันควรต้องมีเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ประจำทีม ได้แก่ แพทย์ประจำทีม นักกายภาพบำบัดประจำทีม ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎระเบียบแน่ชัดว่าต้องมีอย่างแน่นอน แต่ในอนาคตทางสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือเอเอฟซี จะออกกฎระเบียบออกมาให้ทีมชาติของแต่ละประเทศที่เข้าร่วมการแข่งขันจะต้องมีแพทย์ประจำทีมติดตามทีมไปด้วย ดังนั้นฝ่ายจัดการแข่งขันโดยเฉพาะฝ่ายจัดบริการทางการแพทย์จึงต้องทราบข้อมูลเบื้องต้นว่ามีทีมใดบ้างที่ไม่มีแพทย์ประจำทีม นักกายภาพบำบัด
ในปัจจุบันการแข่งขันทัวร์นาเมนต์นานาชาติที่เอเอฟซีรับผิดชอบส่งผู้ควบคุมการแข่งขันชาวต่างชาติเข้ามาดูแลเรื่องการจัดการแข่งขัน ฝ่ายจัดการแข่งขันจะต้องเตรียมรถพยาบาล จำนวน 2 ชุด พร้อมแพทย์ประจำสนาม 1 ท่าน เพื่อให้มีความพร้อมในการดูแลภาวะฉุกเฉินในสนามแข่งขัน พร้อมที่จะนำผู้บาดเจ็บส่งไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด และหรือโรงพยาบาลที่รับผิดชอบในการแข่งขันนั้น ๆ การที่จำเป็นต้องมีรถพยาบาล 2 คัน เพราะเมื่อถึงคราวที่ต้องส่งโรงพยาบาลและการแข่งขันยังไม่เสร็จสิ้น อาจมีกรณีฉุกเฉินรายต่อไปเกิดขึ้นได้
สำหรับอุปกรณ์ช่วยชีวิตขั้นสูงนั้น หมายถึง อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นต้องใช้ในการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR – Cardio Pulmonary Resuscitations) ในภาวะที่ผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น ไม่หายใจ หรือหมดสติ เช่น เครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจ (Defibrillator) เครื่องมือสำหรับใส่ท่อหายใจเข้าไปยังหลอดลม รวมทั้งยาที่จำเป็นสำหรับการช่วยชีวิตในภาวะวิกฤติ
เปลสนาม จะต้องมีเปลพร้อมเจ้าหน้าที่ 4 ท่าน จำนวน 2 ชุด เพราะในขณะขนผู้เล่นออกจากสนามการแข่งขันและการแข่งขันดำเนินต่อไป อาจเกิดการปะทะและมีการบาดเจ็บที่จำเป็นต้องใช้เปลอีกรายหนึ่งในเวลาไล่เลี่ยกันได้ การจัดเปลสนามจึงต้องมี 2 ชุด และในข้อกำหนดของฟีฟ่าที่เขียนเอาไว้เกี่ยวกับเจ้าหน้าที่เปล ก็คือ จะต้องเป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้เล่นเป็นหลัก โดยเฉพาะในกรณีการบาดเจ็บของกระดูกสันหลัง กระดูกคอ เวลาปะทะกันอย่างรุนแรง การเคลื่อนย้ายผิดวิธีอาจทำให้เกิดอัมพาตขึ้นได้ นอกจากนี้แพทย์ประจำสนาม 1 ท่าน (Pitch Doctor) จะต้องคอยเฝ้าติดตามการแข่งขันว่าในบางกรณีอาจต้องลงไปในสนามพร้อมเวรเปลเพื่อประเมินความรุนแรงและควบคุมการเคลื่อนย้าย
ห้องพยาบาล หรือ Medical Room สนามแข่งขันทุกแห่งจะต้องมีห้องพยาบาลพร้อมอุปกรณ์พื้นฐาน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้จากส่วนที่มีอยู่ในรถ Ambulance และนำไปติดตั้งเตรียมพร้อมไว้ในกรณีที่นำผู้ป่วยเข้าไปรักษาเบื้องต้นอยู่ในห้องพยาบาล และในบางสนามในต่างประเทศจะมีตู้ยาพร้อมยาจำเป็นพื้นฐานที่คนทั่วไปอาจหยิบออกมาใช้ได้ เสมือนเป็นตู้ยาสามัญประจำบ้านหรือตู้ยาสามัญประจำสนามการแข่งขัน มีรายชื่อยาพร้อมกับข้อมูลสรรพคุณเบื้องต้น รวมทั้งขนาดยาที่ควรใช้ มีวันเวลาบอกไว้สำหรับวันหมดอายุของยาและเวชภัณฑ์ที่อยู่ในตู้ยา เช่น ที่สนามแข่งขันฟุตบอลของเมืองแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย ในบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีกฎหมายออกมาว่าต้องมีอุปกรณ์ AED (Automatic External Defibrillator) หรือเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจแบบอัตโนมัติ สำหรับคนทั่วไปที่ไม่ใช่บุคลากรทางการแพทย์ก็สามารถใช้งานได้ โดยมีคำแนะนำเป็นเสียงเทปให้ผู้ที่ต้องการใช้อุปกรณ์ AED ปฏิบัติตามเป็นขั้นตอนไปเรื่อย ๆ หากใช้ผิดพลาดก็ไม่มีอันตรายต่อตัวผู้ป่วย อย่างในการแข่งขันฟุตบอลไซตามะคัพ ที่เมืองไซตามะ ประเทศญี่ปุ่นมี AED บริเวณห้องเปลี่ยนเครื่องแต่งตัวในสนามแข่งขันขนาดไม่ใหญ่นัก สำหรับเครื่องกระตุกไฟฟ้าหัวใจฉุกเฉินมีการติดตั้งอยู่ทั่วไปในสถานที่สาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น สนามบินทุกแห่ง ซึ่งจะต้องมีจำนวนเครื่องที่เหมาะสมต่อพื้นที่นั้น ๆ และเครื่องชนิดนี้ได้ออกแบบมาให้คนทั่วไป อาจหาซื้อไว้ในบ้านของตนเอง หากมีสมาชิกบางรายของครอบครัวที่อาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นได้
โรงพยาบาลที่มีความพร้อมและอยู่ใกล้สนามแข่งขันมากที่สุดจะต้องมีการวางแผนและประสานงานไว้ล่วงหน้าว่าในวันที่มีการแข่งขันในกรณีฉุกเฉินมาก รถพยาบาลจากในสนามอาจต้องแวะไปที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้ที่สุดเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยที่อยู่ในรถพยาบาลขณะนั้นและได้รับการประเมินแล้วว่าต้องได้รับการรักษาทันที การบริการทางการแพทย์สำหรับผู้ชมและผู้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงสนามแข่งขันในการแข่งขันนัดสำคัญ ๆ ที่มีผู้ชมต็มความจุของสนามแข่งขัน และมีผู้ที่มาและไม่สามารถเข้าชมในสนามแข่งขันได้ การจัดบริการทางการแพทย์จะต้องคำนึงถึงคนกลุ่มนี้ด้วย ตลอดจนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงขึ้น ทำให้มีผู้บาดเจ็บครั้งเดียวเป็นจำนวนมากๆ (Mass Casualty)
“ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน” VS “ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน”
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ต่างกับภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) ตรงที่กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction; AMI) หรือรู้จักกันว่า ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) เกิดจากการไหลของเลือดเพื่อเลี้ยงส่วนของหัวใจถูกรบกวนทำให้เซลล์กล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนตาย ซึ่งส่วนมากเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ โดยที่หัวใจอาจจะไม่ได้หยุดเต้นขณะเกิดภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายและเสียชีวิตได้ แต่จริงๆแล้ว ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Heart Attack) ก็คือสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิด ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ได้ แต่ก็อาจเกิดจากภาวะอื่นๆ ได้อีกเหมือนกัน
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมักจะเกิดในคนที่ดูปกติและไม่ทราบว่าเป็นโรคหัวใจมาก่อน ซึ่งความเป็นจริงแล้วเขาเหล่านั้นมักจะมีโรคหัวใจแฝงอยู่โดยที่ไม่รู้ตัว ซึ่งมีสาเหตุหลักๆ คือ
หลอดเลือดเลี้ยงหัวใจตีบ พบในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง และสูบบุหรี่
กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (low ejection fraction EF) Ejection Fraction คือการวัดปริมาณเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจในการบีบตัว 1 ครั้ง ซึ่งคนปกติหัวใจจะบีบตัวให้เลือดสูบฉีดออกไปต่อครั้งประมาณ 50-70% (EF 50-70%) แต่ในคนที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน จะมีการบีบตัวที่น้อยกว่า 35% (EF < 35%) และในผู้ป่วยที่อายุน้อย โดยเฉพาะที่น้อยกว่า 30 ปี มักเกิดจาก ความผิดปกติในทางเดินกระแสไฟฟ้าของหัวใจ เช่น Congenital long QT syndrome (LQTS) ความผิดปกติที่กล้ามนื้อหัวใจ เช่น Hypertrophic Cardiomyopathy ความผิดปกติที่หลอดเลือดโคโรนารีที่เลี้ยงหัวใจ (Abnormalities of coronary arteries)